วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตำนานพระภูมิ




 พระภูมิ เชื่อกันว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ต่างๆในโลกนี้ และมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ณ สถานที่ต่างๆมีอิทธิฤทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครอง หรือดลบันดาลให้สิ่งร้ายกลายเป็นสิ่งดี และให้โชคลาภความสุข ความสำเร็จ ตามสมควรแก่บุคคลผู้ซึ่งแสดงความเคารพ ปฏิบัติบูชา เซ่นสังเวย ตามโอกาสอันควร และตั้งศาลให้เป็นที่สถิตของพระภูมิโดยถูกต้องตามแบบแผนประเพณี 

       เรื่องความเป็นมาของพระภูมินี้กล่าวไว้หลายสำนวน สำนวนหนึ่งเป็นตำนานเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า ท้าวทศราช (บางแห่งเรียกว่า ท้าวโศกราช หรือกายทัตต์) กษัตริย์แห่งกรุงพลี กับ พระนางสันทาทุกข์ (บางแห่งเรียกว่า พระนางมันทาทุกธิบดี) มีโอรส ๙ องค์ ซึ่งล้วนแต่ปรีชาสามารถทุกองค์ ต่อมาเมื่อโอรสบรรดาทั้งหลายเจริญวัย ท้าวทศราชก็มอบให้โอรสทั้ง ๙ องค์ พร้อมด้วยบริวารติดตามรับใช้องค์ละ ๓ คน มีชื่อเหมือนกัน คือ นายจันทิศ (บางแห่งเรียกว่า นายจัน) และ นายจันถี (บางแห่งเรียกว่า นายจันที) และ จ่าสพประเชิงเรือน (บางแห่งเรียกว่า จ่าประสพ หรือ อาจเสน หรือ ประเชิงเรือน) ออกไปดูแลรักษาภูมิต่างๆดังนี้ 

พระชัยมงคล      ให้ไปรักษาเคหะสถาน และร้านโรงหอค้าต่างๆ


พระนครราช       ให้ไปรักษาทวารเมือง ป้อมค่าย และบันได 

พระเทเพน         (บางแห่งเรียกว่า พระเทวเถร พระเกเพน หรือพระเทวเถร) ให้ไปรักษา คอกสัตว์ต่างๆ โรง       ช้าง ม้า โค กระบือ 
พระชัยศพณ์      (บางแห่งเรียกว่า พระชัยสพ หรือพระโภศพณ์ หรือ พระโพสพ) ให้ไปรักษายุ้งฉางข้าว และเสบียงคลังต่างๆ 

พระคนธรรพ์       ให้ไปรักษาโรงพิธีอาวาห์และวิวาห์ เรือนหอบ่าวสาว 




พระธรรมโหรา      (บางแห่งเรียกว่า พระเยาวแผ้ว) ให้ไปรักษาไร่ นา ทุ่ง ลาน และป่าเขา 

พระเทวเถร        (บางแห่งเรียกว่า พระวัยทัต พระสุธาจะ หรือพระศรัทธา) ให้ไปรักษาอารามวิหาร ปูชนียวัตถุ และสถานต่างๆ
พระธรรมมิกราช   (บางแห่งเรียกว่า พระธรรมมิกฤช หรือพระธรรมโหรา) ให้ไปรักษาอุทยาน สวนผลไม้ และพืชพันธุ์ต่างๆ 
พระทาษธารา       (บางแห่งเรียกว่า พระธารธารา หรือพระทาษราชา) ให้ไปรักษา ห้วย หนอง คลอง คู บึง และแม่น้ำต่างๆ


ตามความเชื่อแต่โบราณนั้น ถือกันว่าโอรสทั้ง ๙ องค์ ของ ท้าวทศราชเป็นพระภูมิ ทุกองค์ แต่ในปัจจุบันนี้มีพระภูมิเพียง ๒ องค์ เท่านั้น ที่มีศาลอยู่อย่างถาวร และได้รับการสักการะบูชา คือ พระชัยมงคล ซึ่งเป็นพระภูมิประจำเคหะสถาน และ พระธรรมิกราช พระภูมิประจำสวนผลไม้และพืชพรรณต่างๆส่วน พระชัยศพณ์ ผู้รักษายุ้งฉางข้าวนั้นมีแม่โพสพมาแทนที่ สำหรับพระภูมิองค์อื่นๆ คงเหลือแต่ชื่อในตำนานเท่านั้นไม่ปรากฏว่ามีการตั้งศาลเคารพชัดเจน. 
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_8968.html






ตำนานเมืองชาละวัน



ตำนานเมืองชาละวัน
 ชาลวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครองตามตำนานกล่าวว่า

 มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้านหาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหารเมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ห่างจากสระตายายประมาณ ๕๐๐ เมตร 


แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด และมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี แม่น้ำน่านเก่าขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า 

แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตายายได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า “ไอ้ตาละวัน” ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น “ไอ้ชาละวัน” และเขียนเป็น “ชาลวัน” ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ชื่อของชาลวันแพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาลวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐีเมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำาหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สนบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าขาลวันได้ 

ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ถ้ำชาลวัน สันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาลวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดีจระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้อย่างสบาย คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาลวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง คือหัวอยู่ฝั่งนี้ หางอยู่ฝั่งโน้นเรื่องชาลวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” และให้นามจระเข้ใหญ่ “พญาชาลวัน”
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_137.html


วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตำนาน เกาะหนู เกาะแมว



เกาะหนูเกาะแมว
นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาจากเมืองจีน มาค้าขายที่เมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว จะซื้อสินค้าจากสงขลากลับไปเมืองจีนเป็นประจำ วันหนึ่งขณะที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้น พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อพาลงเรือไปด้วย 

หมากับแมวเมื่ออยู่ในเรือนาน ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายและอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่าพ่อค้า มีดวงแก้ววิเศษที่ใครเกาะแล้วจะไม่จมน้ำ แมวจึงคิดที่จะได้แก้ววิเศษนั้นมาครอบครองจึงไปข่มขู่หนูให้ ขโมยให้และอนุญาตให้หนูหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้นเรือกลับมาที่สงขลาอีกครั้งหนึ่ง 

หนูก็เข้าไปลอบเข้าไปลักดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมไว้ในปาก แล้วทั้งสาม ได้แก่ หมา แมว และหนู หนีลงจากเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งที่ หน้าเมืองสงขลา ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายน้ำนำหน้ามาก่อนก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวคงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งไปตามลำพัง ดวงแก้วจะได้เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป 

แต่แมวที่ว่ายตามหลังมาก็คิดจะได้ดวงแก้วไว้ครอบครองเช่นกัน จึงว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจกลัวแมวจะตะปบจึงว่ายหนีสุดแรงและไม่ทัน ระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในทะเล 

เมื่อดวงแก้ววิเศษจมน้ำไปทั้งหนูและแมวต่าง หมดแรงไม่อาจว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น "เกาะหนูเกาะแมว" อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงขาดใจตายกลายเป็นหิน เรียกว่า "เขาตังกวน" เป็นภูเขาตั้งอยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกแหลกละเอียด เป็นหาดทราย เรียกสถานที่นี้ว่า "หาดทรายแก้ว" ตั้งอยู่ทางเหนือของอ่าวสงขลา

เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมในตัวเมืองสงขลา ทางไปแหลมสนอ่อน บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา


คติ/แนวคิด
.......................เกาะหนูเกาะแมวเป็นนิทานประเภทอธิบายสถานที่ ซึ่งปรากฏอยู่ที่แหลมสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่าอย่าโลภมาก ให้มีความสามัคคีและแบ่งปันเอื้อเฟื้อต่อกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_2709.html



ตำนานเขาเก้าเส้ง



ตำนานเขาเก้าเส้ง 

     มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ 

     เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ


พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง 

     เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง”ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า “หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_6941.html

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตำนาน กำเนิดพระแม่โพสพ เจ้าแม่แห่งข้าว (เทวีแห่งข้าว)









ตำนาน กำเนิดพระแม่โพสพ เจ้าแม่แห่งข้าว (เทวีแห่งข้าว)

พระแม่โพสพ เป็นเมล็ดข้าวประเสริฐสุด เป็นเทพีกลางท้องทุ่งนา ผู้ทรงอานุภาพศักดาเรืองฤทธิ์ ช่วยชุบชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาง มีน้ำมีนวลผิวพรรณผ่องใส ช่วยสำรองท้องให้อิ่มหมีพีมัน อีกทั้งเสริมเพิ่มพลังกายามีเรี่ยวมีแรงขมีขมัน แบกหามตรากตรำงานหนักได้ทุกวี่ทุกวัน ก็ด้วยเมล็ดข้าวแม่โพสพนี่แหละ แม่ผู้มีบุญคุญล้ำเลิศ สงเคราะห์ลูกผู้ทุกข์โศก มิต้องอนารร้อนใจ ตราบจนชั่วชีวิต

บทเชิญขวัญแม่โพสพ 
โอม..แม่โพศรี แม่โพสพ แม่นพดารา แม่จันทร์เทวี แม่ศรีโสภาได้เลี้ยงลูกมา ใหญ่กล้าเพียงนี้ลูกขอบวงสรวงด้วยพวงมาลี ธูปเทียนอัคคี ตามมีบูชาลูกขอนี้ไซร้ ขอยกบุญคุณ แม่โพสพ ขึ้นนบนอบเหนือเศียร

จำเนียรการเล่ามามี เดิมทีมีฤๅษีมหากระไลย์โกฏอยู่สันโษในอรัญ บำเพ็ญพรหมขันธุ์ในกุฏิ เพลาหนึ่งเกิดอสุนีฟ้าฟาด อากาศวิปริตโกลาหล ฟ้าฝนก็ตกลงมามิหยุดหย่อน มีเมล็ดข้าวปลิวว่อนกระจาย พอฟ้าฝนหายฤๅษีก็เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงจัดสรรนำไปปลูกริมฝั่งนทีสระน้ำ ฝนชะตลอดมา จนข้าวกล้าแตกรวง

กาลล่วงเข้าฤดูหนาว เมล็ดข้าวก็แก่จัด พระฤๅษีก็โสมนัสยิ่งนัก ครั้นจะนำมากินก็กริ่งเกรงจะเบื่อเมา อันตัวเราก็พึ่งพบคราวนี้ คราวหนึ่งสกุลณีสกุณามาเป็นหมู่ บินจู่โจมกินข้าวสาลี ฤๅษีเห็นดังนั้นพลันรู้ว่า หมู่ปักษามิได้ตายวายชีวิต ก็คิดว่าคงเป็นอาหารอันโอชารส พระดาบสจึงเก็บพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกกระจายลูกหลานเหลน ได้เป็นอาหารของมนุษย์สุดประเสริฐ โดยกำเนิดขององค์ดาบส ตราบเท่าทุกวันนี้


ทุกวันนี้ก็ยังคงมืดมน ไม่ทราบชัดว่าผู้ใดเริ่มรจนาเรื่องราววของแม่โพสพ อาจมีเค้ามาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อ 700 ปีก่อน ดังปรากฏสำนวนว่า "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" อยู่เป็นหลักฐานบนหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่หนึ่ง ที่เชื่อกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดจารึกขึ้น ยังมีข้อความพิศดารปรากฏอยู่ด้วย กล่าวว่า มีพระขพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น(เขาหลวง)เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ผิวไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้ม บ่เกรงเมืองนี้หาย กาลครั้งนั้น คงมีแต่ พระขพุงผี ผู้เป็นใหญ่เท่านั้น

บทเชิญขวัญแม่โพสพ โบราณาจารย์ท่านว่าไว้ดังนี้

ศรี ศรี วันนี้เป็นวันเลิศลม ข้าขอเชิญขวัญแม่พระโพสพ ในนา จะเข้ามาอยู่ในยุ้งฉางวันนี้ ขวัญแม่อย่าหนีตื่นตกใจ เมื่อลมพัดสะบัดใบใม้ร่วงหล่น ขวัญแม่อย่าได้หนีจรดลเที่ยวหนี อย่าได้หลงกินนรีร่ายรำ ขวัญแม่อย่าได้ถลำในไพรพฤกษ์ แม้สัญจรอยู่ในห้วงลึกก็กลับมา ขวัญแม่อย่าได้หลงชมสิงสาราสัตว์ แม้ถูกเขี้ยวตระหวัดอย่าตกใจ แม้จะถูกไถคราด ถูกฟัดฟาดลงกลางดิน ถูกขบกินเป็นอาหารมวลมนุษย์ ขวัญแม่อย่าได้รุดหน่ายหนี จงอยู่เป็นศรีในยุ้งฉาง ขอเชิญแม่นางชมบายศรี ซึ่งมากมีทั้งคาวหวานสารพัด เจ้าของได้จัดมาสังเวยบวงสรวง ขอให้ลาภทั้งปวงเกษมสันต์ มีเงินทองอนันต์ยิ่งนัก มีความรักมั่นคงสถาพร พ้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีอุปสรรคมาขัดขวางทางเดิน ขอให้มีแต่สรรเสริฐลาภยศ มีลูกปรากฏเกียรติขจร มีหมอนหนุนอุ่นใจไม่หน่ายหนี ทั้งพาชีโคกระบือมากมาย มีข้าทาสหญิงชายไว้ใช้สอย มีข้าวร้อยเกวียนเต็มยุ้งฉาง เป็นขุนนางปรากฏปรากฏยศลือชา มีลูกยาเสียแต่วันนี้ ท่านจะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ขอให้มีเมียสวยรวยทรัพย์ อย่าได้ยกอับหม่นหมองมีแก้วแหวนเงินทองเอนกอนันต์ มีสุขสันต์ทุกวันคืนด้วยเดชแห่งพระแม่โพสพ เป็นที่เคารพของปวงประชาได้อาศัยเลี้ยงชีวาไม่หิวโหย ได้กอบโกยซึ่งเงินทอง สิ่งใดที่คะนองทำล่วงเกิน เหมือนย่ำโดยบังเอิญไม่เจตนา ขอให้แม่โพสพอย่าได้โกรธหน้าบึ้ง ขอให้เป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์สืบไปเทอญ ลั่นฆ้อง 3 ที โห่ร้องเอาชัย


แม่โพสพ ตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตตยสถาน แปลว่า เทวดาประจำพืชพรรณธัญญาหารทั้งปวง มวลมนุษยชาติเชื่อถือและกราบไหว้บูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณของชาวไทยและลาวและละแวกลุ่มน้ำเจ้าพระยา บูชาเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญชาติที่เพาะปลูกตามฤดูกาล

แม่โพสพเป็นสตรีเพศ ร่างงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าจีบชายกรอมลงมาถึงปลายหน้าแข้ง ทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ตระการตา ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ และจอนหูงอนชดช้อย มือข้างหนึ่งชูรวงข้าว ส่วนอีกข้างถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง ประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยแบบแพนงเชิงอย่างไทยโบราณ

คนผู้ใหญ่แต่เก่าก่อนนับถือแม่โพสพมาก มักกราบไหว้ท่านก่อนเปิบข้าวคำแรกเข้าปาก และสั่งสอนลุกหลานให้นั่งล้อมวงเปิบข้าวพร้อม ๆ กัน และต้องสำรวมกิริยามารยาทระหว่างเปิบข้าวให้เรียบร้อยอย่าให้มีเม็ดข้าวหายหกตกหล่น แม้ข้าวเหลือก้นจานสังกะสีก็ต้องกินให้หมด ห้ามเททิ้งลงถึงโสโครกให้เอาใส่ปากหม้อข้าวทับบนข้าวที่หุงมื้อต่อไป หรือไม่ก็ต้องนำไปผึ่งแดด ทำเป็นข้าวตากแห้งเอาไว้ เคยเห็นป่าย่ากินข้าวอิ่มหนำสำราญแล้ว ต้องยกมือไหว้เพื่อสำแดงความกตัญญูรู้บุญคุณข้าว จึงต้องขอบคุณท่าน เหล่าชาวนา เมื่อแรกทำนา จนกระทั่งถึงเวลาไถคราด เก็บเกี่ยวรวงข้าวด้วยเคียวเหล็ก ก็จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาแม่โพสพทุกระยะไป เช่น ก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนาจะปลูกศาลเพียงตา สูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชาแม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะอ้อนวอนแม่โพสพให้คุ้มครองรักษาต้นข้าว ขอให้ปีนี้จงทำนาได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนาหว่าน นาดำ เพราะแม่โพสพเป็นหญิงขวัญอ่อนง่าย ต้องทำพิธีเรียกขวัญเสมอ พอเริ่มลงมือไถพรวนดินทำนา ทอดกล้า
ซึ่งต้องเอาข้าวแม่โพสพที่ไปเรียกเชิญเอามาจากนา เมื่อครั้งเก็บเกี่ยวปีผ่านมา นำเอามาปนพอเป็นกิริยา เพื่อให้ "ข้าวปลูก" มีเชื้อเป็นชีวิตจิตใจ ขอให้ลุล่วงขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าข้าวเริ่มต้นทำงานแล้ว ดังนี้ ถ้าเป็นนาดำใช้เมล็ดข้างเปลือกที่คัดเลือกไว้ทำพันธุ์แล้ว เก็บไม่นานเกิน 1 ปีไปแช่น้ำหนึ่งวันแล้วพรมน้ำ 1 วัน จนได้ข้าวแตกหน่อ แตกรากออกมา นำไปหว่านในแปลงนาที่เตรียมดินดีแล้ว รอจนเจริญเติบโต หย่อนรากลงดินแตกใบจึงถอน แล้วนำ "กล้าตั้งหน่อ" เหล่านี้ไปปักดำในที่ที่ตระเตรียมไว้อีกแห่ง กล้าตะแตกใบ ลำต้นค่อย ๆ ดต สูงขึ้นทุกทีพอ 7 วัน หลังจากปักดำในนาที่มีน้ำขังไว้ ยอกใบจะสุงจนเรียกว่า ข้าวถอดหางไก่ พอ 20 วัน ใบเก่าจะหลุดกลายเป็นข้าวแตกกอ ในระยะนี้แหละ ข้าวจะสูงขึ้นเป็นปล้อง เรียกว่า ข้าวแต่ง พอลำต้นเติบโตเต็มที่ ก็จะส่งยอดใบชูสลอนเรียกว่า ข้าวซดมาน ข้าวมา หรือ ข้าวท้อง ก็เริ่มตั้งแต่ท้องอ่อน ๆ จนถึงท้องแต่งตึง ท้องใหญ่ขึ้นทุกทีจยเริ่มโผล่ให้เห็นปลายรวง ข้าวที่รวงโผล่จากกายห่อมีลักษณะคล้ายคนยิงฟัน ก็เรียกว่า ข้าวยิงฟัน ชาวอีสานเรียกว่า ข้าวยิงแข่ว (ยิงฟัน) ครั้นพอข้าวโผล่รวงพ้นจากกาบห่อหมดสิ้นทั้งแปลงเรียกว่าข้าวสุ่ม ข้าวจะเริ่มมีน้ำนมจากเมล็ดที่ปลายสุดของรวงขข้าว พอรวงข้าวโตมีน้ำหนัก เพราะมีน้ำนมแต่งตึงมาก ทำให้ปลายรวงค้อมต่ำลง


ขณะที่ข้าวทุกเมล็ดเต่งตึงเต็มที่ ก็เริ่มแข็งตัวเป็นข้าวสารอ่อน ๆ และต่อมาเปลือกเมล็ดเริ่มมีสีเหลืองทั่วท้องทุ่งจะมีสีเหลืองอร่ามดุจดัง "ทุ่งรวงทอง" วันที่ข้าวสารอ่อนก็คือ ข้าวเม่า ชาวนาเก็บเกี่ยวส่วนหนึ่งมาตำในครกกระเดื่องได้เป็น ข้าวเม่า นิ่ม ๆ นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ พร้อมกับกล้วยไข่สุก อุทิศส่วนกุศลให้ "ตากับยาย" บรรพบุรุษผู้เคยทำนามาก่อนถื่อว่าเป็นผู้ที่มีส่วนให้กำเนิดข้าว พอข้าวแต่ละเมล็ดบนต้นแข็งตัวเต็มที่ จะมีเปลือกสีเหลืองอร่าม ใบชั้นล่างเริ่มเหี่ยวพับลงทาบกับลำต้น ก็ถือว่า ข้าวสุก ดีแล้ว รอสักหนึ่งหรือสองสัปดาห์ก็เริ่มเกี่ยวข้าวหมดทั้งแปลงภายในวันเดียวกัน เมื่อผ่านการฝักข้าวแล้วก็จะได้ เมล็ดข้าวเปลือก นำไปสีที่โรงสีไฟ ก็ขัดผิวเปลือกภายนอกออกจนเหลือ ข้าวสาร สีขาวที่เรียกว่า ข้าวเจ้า ที่มีเมล็ดเรียวยาวงดงาม นับเป็นอาหารหลักของคนไทยทั้งชาติยกย่อง เป็นสุดยอดแห่งความโอชะ เปิบข้าวที่ไหนๆ ก็เอร็ดอร่อยสู้ข้าวไทยไม่ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_09.html

ความเชื่อบุญบั้งไฟ






ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่วนมากต้องอาศัยฟ้าฝนในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาในภาคอีสาน ดังนั้นจึงมีประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการขอฝน

      เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสานที่ผูกพันกับความเชื่อในเรื่องการขอฝนด้วยการทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนฟ้าเพื่อขอฝนจากพญาแถน

ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟ ผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเลยทีเดียว
 ตำนานเรื่องนี้เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครั้งนั้น พญาแถน เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน


ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่ ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้
    พญาแถนจึงให้คำมั่น หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันที และถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก
      ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก จัดเป็นบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำนาโดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ การขอฝน ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่จัดบุญบั้งไฟก็อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติ


 เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือทุพภิกขภัยแก่ชุมชนได้ สำหรับการจัดงานและการละเล่นในประเพณีบุญบั้งไฟนั้น ในวันสุกดิบ ซึ่งหมายถึงวันที่ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน
      เพื่อทำพิธีเซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟที่ใช้ในการเสี่ยงทาย เพื่อเสี่ยงทายดูความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาของปีนั้น จากนั้นก็พากันดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน แล้วก็แห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงาน หรือหมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟ เพื่อจุดแข่งขันประกวด ประชันกันต่อไป
       ในวันแรกของเทศกาลหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วันโฮม" จะมีการนำเอาบั้งไฟออกมาแห่แหนกันก่อน จนกระทั่งวันที่ 2 ถึงจะนำบั้งไฟไปจุดกันกลางทุ่งนา โดยเฉพาะที่จุดบั้งไฟต้องทำเป็นพะองพาดขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่สูงประมาณ 30 เมตร แล้วจุดชนวนให้ดินปืนเกิดการระเบิด


ปัจจุบันได้มีการประกวดความสวยงามและความสูงของบั้งไฟที่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าและหากบั้งไฟอันไหนไม่ยอมพุ่งขึ้นเพราะดินปืนด้าน เจ้าของบั้งไฟก็จะถูกจับโยนลงในโคลนตมกลางทุ่งนาเป็นการทำโทษ
      ในปัจจุบันบั้งไฟที่ใช้จุดแข่งขันมีหลากหลายที่นิยมเรียกกัน ได้แก่ บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน ซึ่งมีปริมาณของดินปืนมากน้อย แตกต่างกันไป "บั้ง" แปลว่า "ไม้กระบอก" บั้งไฟเป็นดอกไม้เพลิง ทำจากกระบอกไม้ไผ่ที่อัดดินปืนเพื่อการจุดระเบิดให้พุ่งขึ้นไปในอากาศเป็นการบวงสรวงพญาแถนโดยมีขนาดที่นิยมอยู่ 3 ขนาดคือ

"บั้งไฟธรรมดา" บรรจุดินปืนไม่เกิน 12 กิโลกรัม

"บั้งไฟหมื่น" บรรจุดินปืนขนาด 12-199 กิโลกรัม

"บั้งไฟแสน" บรรจุดินปืนขนาด 120-299 กิโลกรัม

“บั้งไฟล้าน” บรรจุดินปืนขนาด 300 กิโลกรัมขึ้นไป

       ถ้าบั้งไฟขึ้นสูงก็เชื่อว่าฝนฟ้า ข้าวปลา อาหารจะอุดมสมบูรณ์ดีชาวบ้านก็จะพากันเลี้ยงฉลองรื่นเริงกันในหมู่ผู้ที่ไปร่วมงาน หากบั้งไฟแตกหรือไม่ขึ้นก็หมายความว่าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นต้น

    พิธีกรรม ประกอบด้วย

- การประกวดขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม
- การประกวดขบวนรำเซิ้ง
- การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง
- การแข่งขันจุดบั้งไฟแฟนซี (บั้งไฟ แสง สี เสียง)
- การประกวดกองเชียร์บั้งไฟในวันแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง

    สรุป
     ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในชุมชน เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานเอาไว้ให้สืบทอดถึงลูกหลาน
    และสืบสานประเพณีความเชื่อในเรื่องการขอฝนของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นการตักเตือนให้รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งไม่แน่นอน เกษตรกรไม่ควรประมาท

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_1180.html

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตำนานนางสงกรานต์





ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ


พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย


ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร

ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ



จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบ เขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้



1. ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

2. ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)


3. ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
4. ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
5. ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

6. ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
7. ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

1. วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
2. วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
3. วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
4. วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
5. วันพฤหัส ชื่อ นากัญญาเทพ
6. วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
7. วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://ghostwiki.blogspot.com/2012/02/blog-post_4194.html